จรรยาบรรณของนักวิจัย
รศ.ดร.เดือน คำดี
เพื่อความเข้าใจพื้นฐานจำเป็นต้องวิเคราะห์ความหมายของหัวข้ออภิปรายก่อนดังนี้
1. คำว่า “จรรยาบรรณ” หมายถึงหลักความประพฤติที่พึงประสงค์มีรากฐานอยู่บนศีลธรรมในศาสนาและกฎหมายบ้านเมือง นั่นก็คือศีลธรรมในศาสนามีลักษณะเป็นการชักชวนให้ปฏิบัติเช่นการรักษาศีลให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับอุดมคติของตนเองและให้เกิดความสัมพันธ์ที่พึงประสงค์ระหว่างเรากับคนอื่นในสังคม มีลักษณะว่า “ควร” ส่วนกฎหมายใช้บังคับทุกคนให้ปฏิบัติตามด้วยคำว่า “ต้อง” เช่นทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ศีลธรรมมีลักษณะสากลอยู่เหนือกาลและสถานที่ไม่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นหรือชอบไม่ชอบของใครแต่ไม่บังคับให้ปฏิบัติตามด้วยกำลังการละเมิดกฎศีลธรรมไม่มีโทษเช่นละเมิดกฎหมายเพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจและศรัทธาของแต่ละคน แต่เราก็รู้สึกว่าควรปฏิบัติตามเพราะถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องมีศีลธรรม ดังนั้นศีลธรรมจึงบังคับด้วยคำว่า “ควร”ส่วนกฎหมายนั้นเรายอมปฏิบัติตามเพราะกลัวโทษ ถ้าไม่กลัวโทษเรากล้าละเมิดกฎหมายได้ง่าย ๆเป็นการบังคับภายนอกด้วยคำว่า “ต้อง”
ส่วนจรรยาบรรณเป็นการเริ่มขึ้นจากความสำนึกบนศีลธรรมและกฎหมายในลักษณะเป็นพันธกรณีที่ผูกพันบุคคลไว้กับอาชีพนั้นๆด้วยความเข้าใจในเหตุผลแล้วบังคับให้ต้องทำโดยไม่ต้องชักชวนหรือบังคับแต่โดยความสำนึกในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเป็นเดิมพัน ดังนั้น จึงมีผู้กล่าวว่า ศีลธรรมแม้เข้มงวดวิเศษอย่างไร หรือกฎหมายแม้จะได้บัญญัติไว้ดีเลิศสักปานใดถ้าตัวผู้เป็นศาสนิกหรือผู้ใช้กฎหมายนั้นเองปราศจากเสียซึ่งจรรยาบรรณแล้ว สังคมนั้นจะต้องประสบกับความปั่นป่วนและหาความสงบสุขไม่ได้ ดังนั้น คำว่าศีลธรรม จริยธรรม กฎหมายและจรรยาบรรณ จึงความหมายหนักเบาต่างกัน
2. คำว่า “นักวิจัย” นักวิจัยคือใคร? ตอบได้เลยว่าคือผู้แสวงหาความรู้อันยอดเยี่ยมหรือสูงสุดตรงกับคำว่า คเวสนา ปรมาวิชฺชา ความรู้ยอดเยี่ยมหรือสูงสุดนั้นคืออย่างไร? ก็ตอบได้อีกว่าได้แก่ความรู้หรือคำตอบที่ได้มาโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวิจัยอันเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เรียกอีกอย่างว่า เป็นความรู้วิชาการ ความรู้ระดับนี้สูงกว่าความรู้แบบสามัญสำนึก (Common Sense) ของคนทั่วไปเพราะเป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุและผล ผ่านกระบวนการพิสูจน์มาแล้ว เมื่อนักวิจัยหมายถึงผู้แสวงหาความรู้อย่างยิ่งก็ย่อมกล่าวได้ว่านักวิจัยก็คือนักวิชาการที่จะต้องนำความรู้นั้นมาเพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาของตนและปัญหาสังคม ดังนั้น ความรู้ที่ได้มาจึงมีสองลักษณะคือ ความรู้อิสระที่เป็นตัวทฤษฎีกับความรู้ในฐานะเป็นเครื่องหรือที่เรียกว่าความรู้เชิงวิชาการ (Technological Knowledge)เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์อำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ นักวิจัยจึงเท่ากับเป็นสมองของหน่วยงานหรือสังคม
3. ความสำคัญของจรรยาบรรณ นักวิจัยในฐานะผู้มีอาชีพในการชี้นำสังคมในทุกๆ ด้าน จำเป็นต้องมีจรรยาบรรณ เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เช่น อาชีพครู ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติเพราะบริการสังคมในด้านปั้นจิตใจของอนุชน และแสวงหาความรู้อยู่เสมอ อาชีพนักการเมืองนักการเมืองกลายเป็นรัฐบุรุษก็เพราะตั้งมั่นในอุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้มีเกียรติเพราะตระหนักในความรับผิดชอบต่อทุกเรื่องที่ตนเสนอไปอย่างสร้างสรรค์ อาชีพหมอชื่อว่าเป็นนักบุญเพราะบริการสังคมในด้านสุขภาพและอนามัยอย่างเห็นอกเห็นใจกันนักกฎหมายชื่อว่าเป็นผู้ประสาทความยุติธรรมก็เพราะตั้งอยู่ในจรรยาบรรณของตน แต่เมื่อใดที่นักอาชีพเหล่านั้นขาดจรรยาบรรณของตนเอง เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นนักอาชีพที่ไร้ความดีงามไร้เกียรติยศและศักดิ์ศรีจรรยาบรรณเป็นที่ยอมรับว่าเป็นบรรทัดฐานหรือความประพฤติที่ถูกต้องของแต่ละอาชีพ จรรยาบรรณจึงจำเป็นต้องมีบทคุ้มครองและบทบังคับนั้นก็คือ จรรยาบรรณจะมีลักษณะเป็นวินัยสำหรับข้าราชการถ้าล่วงละเมิดจะถูกตีความว่าผิดวินัยผิดหน้าที่ มีโทษ และถูกตั้งกรรมการสอบสวนหาความผิดทางวินัย ทั้งทางอาญาบ้างอาจจะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นความผิดทางแพ่งหนักเบามากน้อยแล้วแต่กรณีในอีกแง่หนึ่งถ้าล่วงละเมิดในกรณีที่เอาผิดทางวินัยหรือกฎหมายไม่ได้ผู้ล่วงละเมิดจะถูกตีความว่าชั่วร้ายผิดศีลธรรมจะถูกสังคมรังเกียจ ตราหน้าว่าเป็นคนเลว ไร้จรรยาบรรณขาดความไว้วางใจ
4. รากฐานจรรยาบรรณของนักวิจัยเพราะเป็นผู้แสวงหาความรู้และเผยแพร่หรือให้บริการความรู้ที่ค้นพบนั้น นักวิจัยจึงจะต้องมีคุณธรรมพื้นฐานอยู่ 2อย่างคือ
1. ในการแสวงหาความรู้นั้น นักวิจัยจะต้องตั้งตนอยู่บนความเป็นกลางและซื่อสัตย์ปราศจากอคติ 4ประการคือ เว้นจากฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความรัก โทสาคติลำเอียงเพราะความโกรธ ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว และโมหาคติลำเอียงเพราะความเขลาเพราะการทำวิจัยจะต้องทำงานตามกระบวนการ (process) ทางวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการสำรวจปัญหา ตั้งสมมติฐานการแสวงหาข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปเป็นความรู้ออกมาจะต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในทุกๆ กรณี จึงจะได้ความรู้มาถูกต้อง (Valid)เป็นความรู้ที่เที่ยงตรงและสากล
2. ในการเผยแพร่ความรู้หรือผลงานวิจัยต่อสาธารณชนนั้น นักวิจัยจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ตนเป็นผู้นำสังคมด้านวิชาการ จะต้องรับผิดชอบต่อความรู้นั้นจิตใจของนักวิชาการจะระลึกถึงแต่เรื่องที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่สังคมเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ เมื่อจะประกาศผลการตรัสรู้ คือพระธรรมในครั้งแรกนั้น ทรงส่งพระสาวกออกไปโดยตรัสว่า “จงเที่ยวไปประกาศพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดนี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่มหาชนเป็นที่ตั้ง” เพราะนักวิจัยคือผู้มีอาชีพในทางความรู้ มีการให้บริการเป็นหัวใจ คุณธรรมจึงเป็นเรื่องเดียวกับความรู้ต่างจากนักธุรกิจที่มองกำไรและขาดทุนเป็นเบื้องต้น
ดังนั้นหลักจรรยาบรรณพื้นฐานของนักวิจัยจึงอาจประมวลมาให้เห็นเป็นแนวพิจารณาได้ดังนี้
1. พึงเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อหน้าที่ในการแสวงหาความรู้
2. พึงเคารพในความคิดเห็นและผลงานของผู้อื่น
3. พึงรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
4. พึงใช้ความรู้ที่ค้นพบนั้นบริการชี้นำแก่สังคมแต่ในด้านที่จะเป็นประโยชน์สุขและ
สร้างสรรค์เท่านั้น
5. พึงถือว่างานวิชาการเป็นอาชีพ มิใช่ธุรกิจ
6. พึงกล้าชี้อันตรายของสังคมอย่างบริสุทธิ์ใจ
7. พึงยึดถือความรู้คือคุณธรรม
8. พึงถือว่านักวิจัยเป็นที่พึ่งของสังคมในด้านวิชาการ
อย่างไรก็ตามนักวิจัยแม้จะต้องมีพันธกรณีต่องานหน้าที่ของตนเองและสัญญาสังคมต่อผู้อื่นในด้านต่างๆ อย่างเคร่งครัดดูเหมือนจะยิ่งกว่าอาชีพอื่น ๆ ก็ตามบุคคลในอาชีพอื่นก็ไม่ควรจะถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องเอาเปรียบหรือมองข้ามปล่อยให้นักวิจัยขาดศักยภาพและศักดิ์ศรีในอาชีพของตน จนทำให้ต้องละเมิดจรรยาบรรณเพราะเมื่อนักวิชาการขาดจรรยาบรรณหรือสมองของสังคมวิปริตไปเสียแล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง